วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550




จากคติของการสร้างประติมากรรมตกแต่งสะท้อนความเชื่อดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าศิลปวัตถุหรือศิลปสถานเหล่านี้ใช้ สำหรับเป็นที่รองรับเพื่อสำแดงเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ และความเชื่อถือศรัทธาต่อพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ของคนไทยที่ดำเนินมาโดยตลอดแต่โบราณจนปัจจุบันตลอดจนแสดงความหมายถึงความเป็นศิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองด้วย
นอกจากประติมากรรมตกแต่งสะท้อนความเชื่อขนาดเล็กประดับติดอาคารศิลปกรรม หรือศิลปวัตถุตามที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการสร้างประติมากรรมขนาดใหญ่ตกแต่งบริเวณภายในอาณาเขตพุทธสถาน โดยยึดถืออุดมคติสะท้อนความเชื่อทางพุทธศาสนาเรื่องไตรภูมิเช่นเดียวกัน โดยใช้ภาพประติมากรรมทั้งหลายจำลองออกมาเป็นรูปธรรมที่สร้างถวายสำหรับพระศาสนา เป็นการสืบทอดและเผยแพร่พระศาสนาอีกทางหนึ่งประติมากรรมเหล่านั้นมักจะพบอยู่ตามวัดที่สำคัญเช่น รูปหล่อโลหะสัตว์หิมพานต์ขนาดเท่าคนจริงบนพื้นชานชาลาไพที (การยกพื้นสูงขึ้นมาจากพื้นดิน) ตอนบนรอบปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือรูปนกทัณฑิมา หน้าบันไดทางขึ้นทิศตะวันออกของพระวิหารยอดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และหน้าบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หรือรูปสางแปลงสำริดตั้งอยู่ปากประตูกำแพงแก้ว พระอุโบสถวัดพระ-เชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร ภาพสัตว์หิมพานต์เหล่านี้ล้วนถ่ายทอดคติทางพุทธศาสนาเรื่องไตรภูมิออกมาเป็นรูปธรรมทางศิลปกรรมคือการจำลองบริเวณพุทธสถานเป็นแดนป่าหิมพานต์ แวดล้อมด้วยสัตว์หิมพานทั้งหลาย เมื่อบุคคลใดเข้าไปในสถานที่หรือบริเวณเหล่านั้นแล้วประหนึ่งก้าวเข้าไปอีกโลกหนึ่งต่างไปจากชีวิตปัจจุบันธรรมดา

ไม่มีความคิดเห็น: